วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หนัง...แบบอย่างการเจรจาธุรกิจ


อรุณสวัสดิ์วันจันทร์ ที่ยังต้องกังวลว่าน้ำจะลดหรือเพิ่มอีกเหมือนเดิม ผมได้แต่ขอภาวนาให้ลดมากกว่าเพิ่มอย่างแน่นอน เช้านี้ผมมาขอรำลึกถึงหนังเกี่ยวกับการเจรจาสักเรื่อง สองเรื่อง ที่มีคุณภาพ หนังเรื่องนั้นคือ “The Negotiator” เป็นสุดยอดหนังที่มีบท “การเจรจาต่อรอง” อันบีบรัดหัวใจ และชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา เนื่องเพราะบทภาพยนตร์กำหนดให้ แดนนี่ โรมัน (Samuel L. Jackson)ผู้เชี่ยวชาญการเจรจาต่อรอง ของหน่วยสวาทชิคาโก ต้องพบว่าตนเองต้องตกอยู่ในสภาพคนร้าย เขาต้องควบคุมตัวประกันและกลายเป็นเป้าหมายของตำรวจเสียเอง เขาต้องขับเคี่ยวกับ คริส เซเปียน (Kavin Specy) ตำรวจที่ทำหน้าที่เดียวกันแต่มาจากหน่วยอื่น ที่โรมันต่อรองกับตำรวจเพื่อให้มาทำหน้าที่เจรจากับเขา ตำรวจก็ต้องยอมเพราะโรมัน รู้ “นโยบาย” การเจรจาของตำรวจดี คู่ปรับที่สามารถเจรจากับเขาได้จำต้องเป็น “มืออาชีพ” เหมือนกันเท่านั้น การขับเคี่ยวและเชือดเฉือนในบทเจรจาต่อรอง สลับกับแรงบีบคั้นทางจิตวิทยา ที่ทั้งสองฝ่ายก็ดูไม่รู้จะสามารถเชื่อใจฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่ เพราะในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายที่แท้จริง แต่ก็ต้องเผชิญและเตรียมแผนรับมือกับการบลัฟของคู่เจรจาฝ่ายตรงข้ามกันตลอดเวลา จนกระทั่งหนังเรื่องนี้คลี่คลายลงไปในที่สุด

พล็อตที่จำกัดฉากของ “The Negotiator” กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย เมื่อเทียบกับ “The Kill Point” เมื่อผู้กอง เฮิร์ตส์ คาลี (Donnie Wahlberg) พบว่า ทีมโจรปล้นธนาคารห้าคน ที่วางแผนปล้นผิดพลาดต้องถอยกลับเข้าธนาคารและจับลูกค้า ตลอดจนเจ้าหน้าที่ธนาคารเป็นตัวประกัน กลับกลายเป็นทหารนาวิกโยธินผ่านศึกจาก “ฟัลลูจา” เพียงการทักทายสองสามนาที คาลีก็รู้แล้วว่าคู่ปรับของเขา มิสเตอร์วูล์ฟ (แสดงโดย John Leguizamo) มีความเชี่ยวชาญทางทหาร จากศัพท์อย่างเช่น “ฐานปฏิบัติการ” หรือการช่วยเหลือตัวประกันจากการผ่าตัดหลอดลมแบบทหาร เมื่อเรื่องพัฒนาไปคาลีพยายามแก้ปัญหาด้วยเทคนิคการเจรจาต่อรองที่เขาเชี่ยวชาญ แต่มิสเตอร์วูล์ฟ ก็พยายามแปรเปลี่ยนความเสียเปรียบจากการถูกปิดล้อมในธนาคาร โดยการใช้ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดไฮปาร์ค สร้างความชอบธรรม ของการสูญเสียของทหารชั้นผู้น้อย เปลี่ยนประเด็นอาชญากรรมเป็น ประเด็นการเมือง หรือแม้แต่การใช้ลูกสาวนักธุรกิจใหญ่ประจำเมืองพิสเบิร์ก เพื่อสร้างแรงกดดันผ่านระบบการบังคับบัญชาในกรมตำรวจพิสเบิร์ก

The Kill Point คว้าทีมเขียนบทจาก The Negotiator มาทำงานด้วย จึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความสมจริงสมจังของบทเจรจาต่อรอง หนังเรื่องนี้ “มันส์” ตั้งแต่เริ่ม จากฉากทีมปล้นธนาคารดวลปืนกับตำรวจจนสนั่นเมือง ทำให้สร้างความเร้าใจตลอดเวลาที่ผ่านไปทุกวินาที แม้จะมีจุดด้อยอยู่บ้างกับ ฉากที่ดูจะช้าไปนิดระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างทีมปล้น และตัวประกันที่ตกอยู่ในการควบคุม แต่ก็มีเหตุมีผล และตัวประกันเหล่านั้นก็มีส่วนในการพลิกความได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างสองฝ่ายตลอดเวลา

แม้แต่ความสัมพันธ์ในทีมปล้นเอง ดูเรื่องนี้แล้วจะเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างอำนาจว่าไม่ได้อยู่แค่ “ปืน” และ “กระสุน” แต่มันต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “การยอมรับ” ซึ่งกอปรไปด้วยความกล้าหาญ ความกล้าตัดสินใจ และมันสมองในการแกัปัญหาของผู้นำไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ คาลี กับ มิสเตอร์วูล์ฟ จึงกินกันไม่ลงจนหยดสุดท้าย เพราะต่างฝ่ายต่างก็ “ของจริง” ด้วยกันทั้งคู่ “ทำความเข้าใจกันก่อนว่านี่เป็นการทำธุรกิจ” มิสเตอร์วูล์ฟยื่นเงื่อนไขกับคาลีแต่แรก เมื่อเป็นธุรกิจก็ต้องมี “การแลกเปลี่ยนสินค้า” และ “ราคาของสินค้า” ต่างฝ่ายก็ตรวจสอบ “จุดต่ำสุด” ที่จะยอมให้ได้ของแต่ละฝ่าย พร้อมสร้างสถานการณ์ หรือยื่นข้อเสนอที่มีเพื่อ “เรียกราคา” ทั้งคู่รู้กันดีอยู่แล้ว เงื่อนไขยืนพื้น ที่ให้ไม่ได้ของตำรวจ คือ “ปล่อยอาชญากรให้พ้นความผิด” แต่สิ่งที่ตำรวจอยากได้คือ “ความปลอดภัยของตัวประกันทั้งหมด” ในทางตรงข้าม เงื่อนไขพื้นฐานของทีมปล้น คือ “ปล่อยตัวประกันทั้งหมดไม่ได้ ตราบที่ยังไม่ปลอดภัย” และสิ่งที่อยากได้ที่สุดคือ “อิสรภาพและความปลอดภัยของทุกคนในทีม”

เมื่อความต้องการมีความขัดแย้งกันเช่นนี้ การเจรจาต่อรองก็ไต่ไปตามเงื่อนไขที่เป็นเส้นทางอันเรียวแคบนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องเรียนรู้ที่จะสร้าง ช่องทางการสื่อสารที่ไว้ใจได้ ในขณะที่ก็ต้องระมัดระวังและกอบกู้วิกฤติสารพัด ที่ไม่ว่าจะเกิดจากคนฝั่งเดียวกันก็ดี หรือเกิดจากการบลัฟกันก็ดี ที่พร้อมจะทำให้การเจรจาล้มเหลวได้ตลอดเวลา ทั้งมิสเตอร์วูล์ฟ และคาลี จึงเหมือนผู้ควบคุมเกมส์ที่ไม่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม ช่วยกันสร้างเส้นบางๆที่ค้ำยัน สมดุลอันบอบบางโดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อไม่ให้ทีมตำรวจควงอาวุธเข้าไปสังหารทีมปล้นทั้งหมด แน่นอนจะต้องสังเวยตัวประกันไปด้วยบางคน และเมื่อคำนึงถึงฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นอดีตนาวิกโยธินผ่านศึก ก็ไม่แน่ว่าตำรวจจะปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน แล้วบรรลุภารกิจด้วยความปลอดภัยได้

นักเจรจามืออาชีพจะต้องรู้ว่าสิ่งที่ต้องทำเป็นพื้นฐานคือ การสืบทราบข้อมูล, ข้อจำกัด, จุดอ่อน และ ลักษณะนิสัยฝ่ายตรงข้าม ตั้ง “ราคา” ของการเจรจาในแบบที่เราได้เปรียบ (เรียกได้ว่า แม้จะลดราคาให้ 50% ก็ยังได้เปรียบอยู่นั่นเอง) ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามยังพอใจ ทั้งยังพยายามตรวจสอบข้อเสนอของฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดหรือไม่ แล้วต่อรองกลับไปด้วยราคาอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง สิ่งที่น่าสนุกคือทั้งคู่ทำเช่นนี้ ผลัดรู้เท่าทันกันตลอดเวลา แต่โดยสภาพที่มิสเตอร์วูล์ฟเป็นฝ่ายรุก เราจะเห็นเรื่องน่าประหลาดใจเกิดขึ้นจากฝั่งเขาก่อนเสมอ คาลีในฐานะฝ่ายรับก็ต้องหาทางอ่านสัญญาณว่าเขายังพลาดจุดเล็กจุดน้อยไปหรือไม่ เพื่อไล่ตามมิสเตอร์วูล์ฟให้ทัน เพื่อรุกไล่ให้จน และปฏิบัติหน้าที่ให้จบภารกิจในท้ายที่สุด

The Kill Point เป็น Series ฉายทางทีวี ขนาด 8 ตอนจบ ถูกฉายวนใน Spike TV ของสหรัฐอเมริกาอยู่สามรอบ ได้รับเรตติ้งขนาด 4 ดาวครึ่งจาก USA TODAY ถ้าเป็นเมืองไทยสามารถหาดูได้จาก DVD ขนาด 4 แผ่นจบ ดูหนังเรื่องนี้แล้วยังไม่สะใจก็ไปดาวน์โหลด เกมส์ฟรี มาเล่นได้ตลอดเวลา หนัง 2 เรื่องน่าดูน่าสนใจจริงๆ ขอบอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น