วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

How about Your Style Coaching ?

ในช่วงกีฬาโอลิมปิกแบบนี้ คงหนีไม่พ้นที่จะเขียนเรื่องโค้ชกันสักหน่อย แต่ผมจะขอเขียนเรื่องโค้ชเกี่ยวกับธุรกิจดีกว่า เพราะเป็นเรื่องถนัด ปัจจุบันนี้องค์กรต่างๆ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการ Coaching เพราะมองว่า “การสร้างโค้ชภายในองค์กร” มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร รวมไปถึงผู้ที่จะมาแทนตำแหน่งนั้นๆ (Successor หรือผู้สืบตำแหน่งในอนาคต)และยังเป็นอีกหนึ่งในวิธีการที่จะรักษาคนดีคนเก่งไว้กับองค์กร แต่ต้องรู้ว่า การโค้ชที่มีวัตถุประสงค์ต่างกัน ย่อมใช้วิธีการและระยะเวลาต่างกัน นอกจากนี้ อาจดูที่ระดับความลึกซึ้งของการโค้ชด้วย ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน กระบวนการการโค้ชจะมีโฟกัสมากขึ้น และช่วยให้ทั้งโค้ชและผู้ได้รับการโค้ชใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าใจสไตล์การโค้ชของตนเองและสไตล์ของผู้ได้รับการโค้ชก็เป็นส่วนที่สำคัญในความสำเร็จของการโค้ช เพราะทั้งคู่ต่างต้องพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี และโค้ชก็ควรพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจกัน วันนี้ผมมีแนวทางในการดูสไตล์การโค้ช 4 แบบ มาให้ ดังนี้

1.Systematic Style โค้ชเจ้าระบบ ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง แม่นยำ ให้เวลาในการทำความเข้าใจกระบวนการอย่างถี่ถ้วน ตัดสินใจจากข้อเท็จจริง โค้ชสไตล์นี้จะมีประสิทธิภาพกับผู้ได้รับการโค้ชที่ชอบการแก้ปัญหาแบบ “tried and true” และต้องการความสมบูรณ์แบบ พิสูจน์ได้ในข้อเท็จจริง ไม่นำเรื่องส่วนตัวมาปนกับงาน โค้ชสไตล์นี้อาจมีประสิทธิภาพน้อยลงถ้าไปเจอผู้รับการโค้ชที่ชอบท้าทายวิธีการเดิมๆ ที่ได้ปฏิบัติตามกันมา ผู้ที่แสดงออกทางความรู้สึกอย่างเปิดเผย

2.Direct Style โค้ชเจ้าบงการ มักควบคุม สั่งการ กำหนดแผนการโค้ชด้วยตนเอง ใช้คำพูดตรงไป ตรงมา หรือขวานผ่าซาก มุ่งไปที่ผลลัพธ์ โค้ชสไตล์นี้จะมีประสิทธิภาพกับผู้ได้รับการโค้ชที่ต้องการทิศทาง คำสั่งชัดเจน เป็นคนที่กล้าแสดงออก และไม่ขี้ใจน้อย หรือไม่ถือสาคำพูดแบบมองข้ามความรู้สึกเป็นเรื่องส่วนตัว โค้ชสไตล์นี้อาจมีประสิทธิภาพน้อยลงถ้าไปเจอผู้รับการโค้ชที่ไม่ค่อยแสดงออก ไม่กล้าพูด เป็นคน sensitive หรือเป็นคนที่มองหาผู้สอนที่ใช้สไตล์การสอนแบบค่อยเป็นค่อยไปและให้เวลาต่อการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

3.Considerate Style โค้ชใจดี ชอบสนับสนุนให้ใช้เวลาเรียนรู้ด้วยตนเอง ประนีประนอม หาทางออกที่ win-win เป็นผู้ฟังที่ดี โค้ชสไตล์นี้จะมีประสิทธิภาพกับผู้ได้รับการโค้ชที่ต้องการการสนับสนุนทางด้านจิตใจ ความสัมพันธ์เป็นกันเอง ไตร่ตรองก่อนพูด โค้ชสไตล์นี้อาจมีประสิทธิภาพน้อยลงถ้าไปเจอผู้รับการโค้ชที่พูดตรง ไม่แคร์ความรู้สึกใครหน้าไหนทั้งนั้น และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เพียงผลงาน

4.Spirited Style โค้ชเฮฮา เป็นนักคิดสร้างสรรค์ มีแนวทางใหม่ๆเสมอ ชอบสื่อสารโต้ตอบไปมา มองภาพใหญ่ ไม่ลงรายละเอียด โค้ชสไตล์นี้จะมีประสิทธิภาพกับผู้ได้รับการโค้ชที่ชอบแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ แสดงออกทั้งคำพูดและความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา กล้าคิดนอกกรอบ และไม่ติดกับความคิดเดิมๆ โค้ชสไตล์นี้ อาจมีประสิทธิภาพน้อยลง ถ้าไปเจอผู้รับการโค้ชที่ไม่หือไม่อือ ไม่ชอบพูดชอบคุย ผู้ที่ต้องการแผนงานที่ละเอียดมีขั้นตอน และต้องการปฏิบัติตามแผนอย่างระมัดระวัง รอบคอบ และไม่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนบ่อยๆ

สิ่งที่สำคัญคือ โค้ชทุกสไตล์สามารถที่จะเรียนรู้สไตล์ของผู้ได้รับการโค้ชและปรับตัวเข้าหาเขาหรือเธอได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และไว้วางใจกัน การวิเคราะห์สไตล์การโค้ช ควรใช้แบบทดสอบที่มีวิธีการพัฒนาสไตล์ของคุณให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผู้ได้รับการโค้ชด้วย ไม่ควรทำแบบทดสอบที่พอทราบสไตล์แล้วก็แล้วกัน สิ่งสำคัญคือต้องมี Action Plan ว่าทราบแล้วจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อความสำเร็จในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกประการ..นะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น