วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

Marketing Technology


อย่างที่บอกกันไว้ว่าคราวนี้จะพูดต่อเรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของด้าน Marketing Technology Trend ในปีนี้ สิ่งที่น่าจับตามองเป็นอันดับที่ 1 คือ เรื่อง Self Marketing (การทำตลาดให้ตัวเอง) อดีตที่ผ่านมาเวลาจะส่งสินค้าไปทำตลาดขายอยู่ในต่างประเทศต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นกลไกขับเคลื่อนวางแผนงานประชาสัมพันธ์และการตลาดให้ แต่ในปัจจุบันนี้เมื่อโลกเชื่อมต่อกันเข้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจนกลายเป็นโลกแห่งยุคออนไลน์ไปแล้วส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มมีแนวโน้มหันมาทำตลาดด้วยตนเองผ่านช่องทาง Social Network อย่าง Google และ Facebook แทนการต้องจ้างใครสักคนมาช่วยทำการตลาดให้เหมือนเมื่อก่อน แนวความคิดของผู้บริหาร หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เริ่มมีแนวโน้มหันมาทำการตลาดด้วยตนเองมากขึ้น เพราะความก้าวล้ำของเทคโนโลยีวันนี้แค่กด Click เดียวก็สามารถเข้าถึงคนทั่วโลกได้แล้ว และกระแสสังคมของคนใช้ Social Network ก็มีเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นโอกาสทองของการนำสินค้าเข้าถึงมือผู้บริโภคที่นับวันจะทวีมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่จะตามมาเป็นอันดับที่ 2 สำหรับเจ้าของผลิตภัณฑ์ คือ Social Engagement and Monitoring การมอนิเตอร์เก็บข้อมูลว่าปัจจุบันมีผู้บริโภคได้พูดถึงแบรนด์สินค้าของเราอย่างไรบ้าง เช่น สินค้ารุ่นนี้ที่ซื้อไปใช้ดี-ไม่ดี มีปัญหาติดขัดอะไรบ้าง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์หาความต้องการของผู้บริโภคในการคิดออกผลิตภัณฑ์ตัวต่อไปในวันข้างหน้า รวมถึงการสร้างความผูกพันระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค จากเมื่อก่อนเป็นเรื่องที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนทั้งประเทศมีการพูดถึงแบรนด์ดังกล่าวไว้ว่าอย่างไรบ้าง ฉะนั้น การตลาดยุคใหม่ในโลกออนไลน์เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องตระหนักคิดอยู่เสมอว่า ปัจจุบันลูกค้ามีสิทธิเสรีภาพพูด หรือคอมเม้นท์สินค้าผ่านช่องทางนี้มากขึ้นและเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลสูงในการ Impact กับคนหมดทั้งประเทศนี้ ซึ่งเป็นเหมือนดาบสองคมถ้าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นดีก็จะมีการพูดต่อๆ กันไปในทางที่ดีสร้างให้เกิดการรับรู้ และการซื้อ-ขายในกลุ่มผู้บริโภคด้วยกันเอง แต่ถ้าสินค้านั้นไม่มีคุณภาพ บริการแย่มาก ก็จะเกิดการสร้างกระแสสังคมให้คนทั้งประเทศได้รับรู้เรื่องแบรนด์ไปในทางลบเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องหมั่นตรวจตราสินค้าแบรนด์ของตนเองอยู่สม่ำเสมอ และการหาวิธีต่างๆ ในการผูกพันแบรนด์กับผู้บริโภคเข้าไว้ด้วยกัน
สิ่งที่จะมาอันดับที่ 3. Deep Analytics and Measurement Freemium ในอนาคตการตลาดบนโลกออนไลน์จะลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นวิเคราะห์เชิงลึกได้ว่า ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าอะไรไปบ้าง และเข้ามาตอนกี่โมง รวมถึงเป็นยุคที่คนจะเอาของฟรีมาแจกมากขึ้น แต่ภายใต้โมเดลการให้ฟรี เช่น ดาวน์โหลดเกม หรือ Application ต่างๆ ก็จะแฝงด้วยโมเดลการเสียตังค์ถ้าต้องการเกม หรือ Application อย่างอื่นเพิ่มเติม หรือในกรณีของ Google ที่ให้คนทั่วโลกได้เข้ามาใช้บริการหาข้อมูลฟรี แต่รายได้ที่ Google ได้รับมาจากค่าโฆษณาที่เจ้าของแบรนด์สินค้ายอมจ่ายให้เพื่อซื้อพื้นที่ดังกล่าวโฆษณา
สิ่งที่จะมาเป็นอันดับที่ 4. Mobile Advertising become Popular ปัจจุบันจะเห็นแล้วว่ามีเจ้าของสินค้ามากมายเริ่มหันมาโฆษณาด้วยการเชื่อมมือถือเข้ากับโลกเสมือนจริงมากขึ้น เช่น มันฝรั่งยี่ห้อเลย์, เครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ จึงนับได้ว่าเทรนด์ปีหน้ามือถือจะมีประสิทธิภาพการใช้งานมากขึ้นขณะที่ราคาต่อเครื่องจะต่ำลง เพราะจากการทำข้อมูลเชิงวิเคราะห์พบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาผู้บริโภคหันมาใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับในแง่ของผลิตภัณฑ์ก็เริ่มมี Devices อุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหลากหลายขึ้นเช่น Tablet ไม่ได้มีเฉพาะแค่มือถืออย่างเดียวในปัจจุบันนี้ ขณะเดียวกัน มือถือจะกลายเป็นเครื่องมือ หรืออุปกรณ์หลักสำคัญในการทำตลาดเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วยการเชื่อมโยงลูกค้าเข้าถึงสินค้า และ บริการ รวมถึงกิจกรรม Event ประชาสัมพันธ์งานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เห็นบ้างแล้วที่เจ้าของแบรนด์ใช้มือถือเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงถึงลูกค้าคนอื่นๆ ผ่านทางโลกออนไลน์ด้วยการให้ผู้บริโภคที่เข้ามาร่วมงานได้ถ่ายรูปตนเองผ่านมือถือเพื่อจะได้ Share กันบนเว็บ ทำให้คนอื่นๆ ที่ไม่ได้มาร่วมในงานให้เห็นถึงกิจกรรมและโลโก้แบรนด์สินค้านั้นด้วย
สิ่งที่จะมาอันดับสุดท้าย 5. Augmented Location เป็นการตลาดใหม่อีกรูปแบบหนึ่งในการใช้มือถือส่องเข้าไปยังถนนสายนั้น สายนี้ แล้วจะพบสถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหารต่างๆ ผุดขึ้นมาพร้อมกับข้อมูลรายละเอียดของสถานที่นั้นๆ รวมถึงการตลาดที่เป็น Augmented Realty ที่ผู้บริโภคสามารถใช้มือถือส่องดูรายละเอียดของสินค้าต่างๆ ได้ ในรูปเสมือนจริง โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาดูที่ Shop ซึ่งเป็นการตลาดที่จะเริ่มมีอะไรแปลกใหม่ เข้ามาให้เล่นและนำเสนอขายให้ผู้บริโภคในรูปแบบที่เป็น Augmented Realty มากขึ้น แทนที่จะเป็นการนำเสนอขายสินค้ารูปแบบเดิมๆ ที่วางนิ่งอยู่แต่บนชั้นวางสินค้าอย่างเดียว
ส่วนเรื่องเทนด์ตลาดมีด้วยกัน 8 เทรนด์ คือ
ปีนี้พบว่ามี 8 เทรนด์ใหม่ที่น่าจับตา เริ่มจาก 1. กลยุทธ์ออนไลน์ผสมผสาน โซเชียลมีเดียอย่างฉลาด (Digital Strategy and Social Media Integration) นั่นคือ การผสมผสานดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งและโซเชียลมีเดียอย่างครบวงจร เนื่องจาก e-CRM เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความภักดีในแบรนด์ที่แข็งแรง ซึ่งผู้ชนะในเวทีนี้ คือ ผู้สร้างความสัมพันธ์ได้อย่างลึกซื้ง
2. Facebook ถือเป็นสมรภูมิที่มีอิทธิพลสำหรับนักการตลาด ทั้งช่องทางโฆษณาและการตลาด แต่ข้อเท็จจริงที่ถูกมองข้าม คือ โซเชียลเน็ตเวิร์คไม่ใช่ของฟรี หรือของดีราคาถูก ยิ่งการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมากขึ้น อย่าง Facebook Shop หรือ Facebook Messaging และอีกมากมาย จะต้องมีผู้ดูแลบริหารจัดการรับมือและโต้ตอบกับผู้คนอย่างมืออาชีพในทุกๆ ด้าน และตลอดเวลา
3. Brand Engagement พลังมัดใจสร้างแฟนพันธุ์แท้ผ่านการตลาดออนไลน์ การสร้าง Campaign Micro Site ที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ถูกใจ และให้ความบันเทิง เพื่อนำไปสู่แรงผลักดันในการตัดสินใจซื้อสินค้า ในปีหน้านักการตลาดจะหันมาใช้วิดีโอออนไลน์ดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น
4. อีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซ เพราะการค้าปลีกออนไลน์ Retail e-Commerce และการค้าบนเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ค Social Commerce จะมาแรง ถือว่าปีหน้าจะเป็นปี Kick-off ของร้านค้าออนไลน์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ผู้บริโภคจะมั่นใจกับการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น
5. ออนไลน์โปรโมชั่น จะมีสีสันและเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากมีทั้งรายเล็กรายใหญ่เข้ามาแชร์พื้นที่ จะเห็นความถี่ของโปรโมชั่นประเภท one-day-deal, weekend deal, friend & family deal มากขึ้น
6. อุปกรณ์ On-the-Go จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่ม Mobile Device ไม่ว่าจะเป็นมือถือ สมาร์ทโฟน ไอแพด แท็บเล็ต เป็นอุปกรณ์สื่อสารติดตัวแบบ On-the-Go Device ที่สร้างประสบการณ์ในการรับรู้และอินเตอร์แอคทีฟที่แตกต่าง มีอิทธิพลในการเปลี่ยน พฤติกรรมการใช้งาน และการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคในการทำการตลาดอย่างประชิดติดตัวผู้บริโภค
7. แบรนด์เพิ่มการลงทุนสร้างแอพพลิเคชั่นแนวโน้มนี้จะพบว่าแบรนด์พากันทุ่มเทงบประมาณมากขึ้นในการสร้างสรรค์แอพ (แอพพลิเคชั่น) บนอุปกรณ์ Device ใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเน้นเป้าหมายการใช้งานต่างกันมารวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน เช่น Commercial App ทำหน้าที่อัพเดทข้อมูลด้วยการ Push Update และเชื่อมผู้บริโภคสู่ข้อมูลบนเว็บไซต์
8. จับตา 3 ยักษ์ใหญ่ Google-Apple-Facebook จะเป็น Online Advertising & Marketing Platform ที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค ซึ่งการวางแผนบริหารสื่อ (Media Strategy & Planning) จะต้องเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจากเดิมและเข้มข้นมากขึ้น
เจเนอเรชั่น Z แรงสุดขีด
จากข้อมูลทางธุรกิจวิจัยการตลาด บอกว่าเทรนด์ผู้บริโภคไทยในเรื่องจังหวะชีวิตผู้บริโภคไทย สรุปมีด้วยกัน 10 เทรนด์ ประการแรก คือ แนวโน้มภูมิภาคเอเชียมีบทบาททางเศรษฐกิจโลกและอิทธิพลทางความคิดมากขึ้น โดยมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีสินค้าหลายแบรนด์ก้าวสู่ตลาดโลก สำหรับประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากกระแสความนิยมเอเชีย โดยเฉพาะวัฒนธรรมจากเกาหลีและญี่ปุ่น ได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่นไทยเป็นจำนวนมาก และยังมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรายการโทรทัศน์ และข่าวสารจากสื่อต่างๆ แฟชั่น เพลง แต่แม้ว่ากระแสความนิยมวัฒนธรรมเคป็อปหรือเจป็อป จะมาแรง แต่พบว่า คนไทยยังภูมิใจในความเป็นไทยไม่ได้ลดลงปัจจัยการซื้อสินค้ายังคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าแบรนด์เนม
เทรนด์ที่ 2 คือ การเติบโตด้านการออกแบบ พบว่า กลุ่มคนไทยอายุ 15-25 ปี มีการแสดงออกถึงความชื่นชอบผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของศิลปะ และต้องการมีส่วนร่วมอย่างมากในการออกแบบ
เทรนด์ที่ 3 ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นชัดเจน ตั้งแต่ปีนี้กระทั่งถึงปีหน้านี้ ยินดีที่สนับสนุนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
เทรนด์ที่ 4 คือ ความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม หรือการทำซีเอสอาร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การทำตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้น เพื่อส่งผลต่อแบรนด์หรือองค์กรในระยะยาว
เทรนด์ที่ 5 คือ การมีสุขภาพและการกินดีอยู่ดี มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมองเรื่องสุขภาพในภาพรวมมากขึ้น
เทรนด์ที่ 6 ความคล่องตัวและการเข้าถึง ทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงของประชากรและดัชนีสำคัญ สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งด้านการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากร ระบบคมนาคมที่ดีขึ้น การขยายเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส มีรถไฟฟ้าใต้ดิน การเติบโตของสายการบิน และการใช้โน้ตบุ๊คและโทรศัพท์มือถือ ซึ่งความคล่องตัวและการเข้าถึงที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคไทยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และต้องการเข้าถึงการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ช่วยประหยัดเวลา และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อช่วยให้ประหยัดเวลามากขึ้น ในปีที่ผ่านมา ร้านสะดวกซื้อเป็นช่องทางที่เติบโต 17% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ
ส่วนเทรนด์ที่ 7 การมีวิถีชีวิตแบบเร่งรีบและความสะดวกสบาย ทำให้คนไทยสนใจผลิตภัณฑ์ และบริการที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น ส่งผลต่ออัตราการส่งข้อความทาง SMS, MMS หรือทางอินเทอร์เน็ต มีการขยายตัวสูงเพิ่มขึ้นด้วย
เทรนด์ที่ 8 คือ การเติบโตของสื่อดิจิตอล ขณะที่โครงสร้างสาธารณูปโภคก็พัฒนาขึ้น พบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยโต 26.3% น้อยกว่าฟิลิปปินส์โต 29.3% เวียดนาม โต 27.1% ส่วนจีนโต 31.6%
เทรนด์ที่ 9 เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่มีเพิ่มขึ้น ขยายไปสู่การใช้โซเชียลมีเดีย โดยพบว่า คนไทยใช้เฟซบุคเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือน เพิ่มเป็น 2 ล้านคน ทำให้คนไทยกล้าแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะมากขึ้น พบว่า 48% ต้องการแสดงความคิดเห็นทางโลกออนไลน์มากกว่าในลักษณะตัวต่อตัว
สุดท้ายเทรนด์ที่ 10. มีการใช้โทรศัพท์มือถือผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และเชื่อว่าหากมี 3G จะช่วยทำให้อัตราการใช้ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งพบว่า กลุ่มอายุ 21-24 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้าน ผ่านทางโทรศัพท์เกือบ 100%
เห็นกันไหมหล่ะครับว่าทุกเทรนด์หนีไม่พ้นเรื่องเทคโนโลยีเลย อย่างไรก็ตามขอให้ใช้ให้เป็นให้ดีให้ถูกทางอย่าผิดกฎหมาย อย่าไปทำร้ายใคร เพราะทุกอย่างมันมีทั้งคุณและโทษเสมอ ที่สำคัญอย่าให้เทคโนโลยีมันไปมีอิทธิพลควบคุมจิตใจเราได้ทั้งหมดแม้กระทั่งเรื่องความเป็นสังคมของมนุษย์ก็แล้วกันนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น