วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มีชีวิตคู่ไม่ยาก ถ้า...


นอกเหนือไปจากกฏแห่งธรรมชาติ ว่าด้วย ‘สมชีวิตาธรรม’ ในการตัดสินคุณภาพของคู่แต่งงาน และลักษณะของคู่แท้ ที่สอนโดยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชีวิตประจำวันที่สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป หลักการบางข้อจึงจำเป็นต้องนำมาปรับใช้ประกอบคู่กัน จึงจะเรียกว่าสมบูรณ์แบบจิตวิญญาณแห่งชีวิตคู่…วันเสาร์นี้ผมขอเอาใจชาวพุทธ ด้วยการนำหลักการเหล่านี้มาแบ่งปันกันครับ
1. ยอมรับ
การยอมรับแยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือยอมรับในตัวตนทั้งหมดของคู่ชีวิต และยอมรับผลที่ตามมาจากการใช้ชีวิตคู่ร่วมกับเขาหรือเธอ อันจะแก้ปัญหาการกล่าวโทษ และโบ้ยความผิดที่มักจะเกิดแก่ชีวิตคู่ส่วนใหญ่

2. ซาบซึ้ง
ไม่ว่าจะผ่านไปนานสักแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใด ลองทบทวนให้ถี่ถ้วน ว่าเขาหรือเธอทำความดีอะไรให้คุณบ้าง เพราะบางทีคุณอาจจะเห็นสิ่งนั้นเป็นของตาย จนมองข้ามไปนานแล้ว อย่างน้อยการสำนึกด้วยตนเอง ก็จะแก้ปัญหาการทวงบุญคุณกัน อันเป็นอีกหนึ่งปัญหาของชีวิตคู่ที่อยู่ในขาลง

3. วางใจเป็นกลาง
คู่รักในระดับเฉลี่ยทั่วไป มักจะเข้าใจว่ายิ่ง ‘เข้าข้าง’กันมากเท่าไร ยิ่งเป็นการแสดงออกถึงความรักมากเท่านั้น ความคิดแบบนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดในฝ่ายหญิง ซึ่งมักจะมีปัญหาตามมาในภายหลัง เช่น ฝ่ายภรรยาที่เข้าข้างสามีโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชั่วดี อันนี้ผลมักลงเอยด้วยการผิดหวัง เนื่องจากพอเกิดมีปัญหาจากภายนอกเข้ามา ฝ่ายสามีกลับเฉยชาและไม่ทำอย่างเดียวกันกับภรรยาบ้าง ดันไปเข้าข้างคนอื่นซะนี่….ทางที่ดีที่สุด คือการยึดหลักการและวางใจให้เป็นกลางในการตัดสินเรื่องใดๆ เพราะลองว่าใช้ชีวิตในกรอบศีลธรรมด้วยกันทั้งคู่ ก็คงไม่มีความอยุติธรรมใดๆมาให้เดือดร้อนใจอยู่แล้ว

4. ให้อภัย
หลักการข้อนี้มักนำมากล่าวถึงกันบ่อยๆ แต่ไม่ค่อยจะมีใครเข้าใจแก่นของมันอย่างแท้จริง ว่าอันที่จริงแล้วการให้อภัยนั้น ไม่ได้ทำไปเพื่อเอาบุญเอากุศล หรือเอาใจคู่รักของเราหรอก ความใจกว้างเยี่ยงนั้น ใครๆก็มีได้ หากแต่แก่นของการให้อภัย เป็นการสร้างและฝึกสภาวะจิตใจ ให้ตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าจะต้องเก็บความโกรธและความคับข้องใจเอาไว้ มีแต่จะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นซ้ำอีก ดังนั้นควรปล่อยให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกฏอนิจจัง ทุกขังก็จะผ่านไปเอง

คำว่า‘จิตวิญญาณแห่งชีวิตคู่’นั้น ไม่ได้มีความหมายเพียงเปลือกนอก หรือเป็นเพียงการกระทำอันผิวเผิน เช่นจูงมือกันไปวัดไปโบสถ์ ตักบาตรทำบุญร่วมกัน ขอพรสิ่งศักดิสิทธิ์ร่วมกัน ฯลฯ เท่านั้น หากแต่เป็นการใช้สติปัญญา พิจารณาเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคและประคับประคองชีวิตคู่ ให้ต่างฝ่ายได้เดินอยู่บนเส้นทางอันนำไปสู่ประตูแห่งความสุขทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างครบบริบูรณ์ และเมื่อวานนี้ผมได้ดูทอล์คโชว์เรื่องของอดีตนักร้องสาว ซึ่งหย่ากับสามี ผมเคยรู้จักพูดคุยกับทั้งคุณแม่และสามีของเธอคนนี้ตั้งนานมาแล้ว ทำให้พอจะเข้าใจได้ว่า เพราะความ‘เบื่อ’เป็นสาเหตุ ให้เธอตัดสินใจหย่าร้างกับคนที่เฝ้าคอยดูแลและเอาใจเธออย่างดีมานาน ข่าวว่าสามีของเธอถึงกับต้องไปพบจิตแพทย์ แล้วก็มีอาการเซื่องซึม หมดอาลัยตายอยากไปเลย เพราะช๊อกมากกับการยื่นขอหย่าของเธอ ทั้งๆที่ไม่ได้แสดงอาการให้เห็นเลยในตอนแรก ตรงกันข้ามกลับทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขี้น เพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจหรือไม่ก็เพื่อแสดงความเข้มแข็ง แต่พอนักร้องสาวเดินออกจากบ้านไป สามีเธอก็ปล่อยโฮ เพราะช้ำรักข้างใน ถ้าไม่หาจิตแพทย์ ก็คงฆ่าตัวตายไปเลย

ถึงแม้ความต้องการหย่าด้วยสาเหตุว่า ‘เบื่อ’ นั้น เป็นสาเหตุที่คนทั่วไปอาจมองว่า ‘ไร้เหตุผล’ เห็นแก่ตัวและใจร้ายที่สุด เพราะมองว่าในเมื่ออีกฝ่ายนึงไม่ได้ทำอะไรผิดซักหน่อย ทำไมคุณต้องบอกเลิกกับเขาหรือเธอด้วย แต่ที่จริงแล้ว ความ’เบื่อ’เป็นสาเหตุใหญ่ของการเลิกราในหลายๆคู่เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงนั้น จะขอหย่าด้วยสาเหตุว่าไปเจอคนอื่นที่ ‘ดี’ กว่า หรือด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าหย่าแล้วชีวิตทั้งคู่จะดำเนินต่อไปอย่างไร การที่ผมยกเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงประเด็นว่า ในขณะที่บางคนยอมที่จะอยู่ด้วยกัน แบบหมดรัก แต่บางคนเลือกที่จะจากแบบยังดีต่อกัน แล้วแบบไหนล่ะ คือทางที่ ‘ถูก’?

อีกตัวอย่างหนึ่ง ของการหย่าร้างด้วยดี ก็คือ คู่ของอดีตนายกฯกับคุณหญิงภรรยา ส่วนตัวอย่างของการเหนี่ยวรั้งกันไว้ด้วยดีเช่นกัน ก็คือคู่ของบิล และฮิลลารี คลินตัน ที่ถึงแม้จะจับได้ว่าสามีนอกใจ ก็ไม่ยอมหย่า….สรุปแล้ว แทนที่ที่จะไปตัดสินฟันธงว่าการหย่าร้างกับดันทุรังอยู่ แบบไหนถูกหรือผิด เราต่างก็ต้องหันมาดูสาเหตุเบื้องหลังการตัดสินใจ หรือแรงจูงใจในชีวิตของแต่ละคน เพราะการจดทะเบียนมันก็แค่กระดาษแผ่นเดียว เป็นเรื่องทางกฎหมาย ที่สำคัญกว่าคือ ใจ

คนที่มีความรักและนับถือตัวเอง (High Self-Esteem) เวลาบอกเลิกกับอีกฝ่าย มักจะไม่รู้สึกผิดบาป เพราะพวกเขาเชื่อว่า‘ทำผิดด้วยจิตด้านบวก’ ทำไปเพื่อสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์กว่า อย่างน้อยก็สำหรับตัวพวกเขาเอง ซึ่งการกระทำประเภทนี้ บางครั้งเจ้าตัวอาจจะไม่ได้รับผลกรรม เพราะถือเป็นการกระทำที่รักตัวเอง นอกจากนี้ คนที่เป็นฝ่ายบอกเลิก มักจะพูดว่า ‘….เรายังเป็นเพื่อนกันได้นะ’ แต่คนที่ถูกบอกเลิกนี่สิ ทำใจเป็นเพื่อนได้ที่ไหน ก็มันไม่ทันตั้งตัว ไม่เหมือนคนที่บอกเลิกซึ่งคิดล่วงหน้ามานานแล้ว และมีแผนบางอย่างรองรับอยู่แล้ว ว่าชีวิตเขาหรือเธอจะทำอะไรต่อไป ในขณะที่คนถูกบอกเลิก กำลังหลงเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะกินจะนอนจะทำอะไร ก็มีอีกฝ่ายร่วมอยู่ในแผนการชีวิตเสมอ ข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าของธรรมชาติก็คือ คู่รักชายหญิงส่วนใหญ่มักจะมีจิตใจและความคิดตรงข้ามกันเสมอ (นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ดึงดูดกันตั้งแต่แรก ‘Opposite Attraction’) จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของความสัมพันธ์ เมื่อความต้องการของอีโก้ในตอนเริ่มแรกถูกเติมเต็มแล้ว จะต้องมีการใฝ่หา ‘บางสิ่ง’ที่ขาดหาย จนนำไปสู่ควมต้องการแยกตัวและหย่าร้างในที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะมีฝ่ายหนึ่งที่ไปดี และฝ่ายที่รู้สึกถูกทำให้เจ็บปวด….ก็แล้วในเมื่อการพรากจากกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทำอย่างไรจึงจะให้ผลลัพธ์ที่ตามมาเป็น Win-Win มากกว่าที่จะเป็น Zero Sum Game?
คำตอบคือ ‘ทำไม่ได้!’ ………..แต่มีวิธีป้องกัน ทางที่ดีที่สุด คือ การนำชีวิตคู่ที่ล้มเหลวมาเป็นบทเรียน และป้องกันชีวิตคู่ครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยการพิจารณาคนที่จะมาใช้ชีวิตคู่หรือแต่งงานด้วยครั้งใหม่ให้รอบคอบถี่ถ้วนซะก่อน ว่าคนๆนั้นให้คุณค่ากับสิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่าง “การออกไปไขว่คว้าความปรารถนาของตน” กับ “การเติมเต็มด้วยชีวิตคู่’หรือ “การมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น” กับ “การหาผู้อื่นมาสนองความต้องการของตน”….จงเลือกคนที่พอดีๆ ไม่ใช่ปลิงที่คอยเกาะและจะตายเมื่อขาดคุณ และก็ไม่ใช่นกอินทรีย์ที่ชอบโบยบินเป็นอิสระจนเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น