วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปัญญาเป็นปัญหา ใครจะเชื่อ


อาชญากรรมทางปัญญาในองค์การ หัวหน้าที่ขัดขวางปิดกั้นไม่ให้ลูกน้องได้รับการฝึกอบรมพัฒนาเป็นอาชญากรทางปัญญาในองค์กร ส่วนลูกน้องที่ได้รับการฝึกอบรมหรือพัฒนาแล้วไม่นำมาใช้เป็นการฆ่าตัวตายทางความคิด เราใช้พลังสมองของเราเพียงไม่ถึงร้อยละหนึ่งของศักยภาพของมัน แสดงว่าเรายังสามารถนำพลังแฝงมาใช้ได้อีกถึงร้อยละ 99 แต่ที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เรานำความรู้เรื่องสมองมาใช้ประโยชน์กันไม่ถึงร้อยละหนึ่งเช่นกัน

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่ามากที่สุด คือ การพัฒนาทรัพยากรภายในมนุษย์แต่ละคน ที่มีศักยภาพในการใช้งานสูงสุด แต่มนุษย์เรายังนำมาใช้กันน้อยนิด ทรัพยากรที่พูดถึงนี้ก็คือสมองของเรานั่นเอง เมื่อเราได้ฝึกให้พนักงานของเราใช้สมองทั้งสองซีก สอดประสานกันอย่างเต็มที่แล้วเท่านั้น เราจึงพอจะพูดได้เต็มปากว่าเราได้พัฒนาคนของเราแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต จึงมุ่งหนักไปในการสอนให้พนักงานในแต่ละองค์การรู้วิธีเรียนรู้ เพื่อไปเก็บกักตักตวงความรู้จากแหล่งความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและถูกกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการนำความรู้นั้น ๆ มาใช้ปรับปรุงตัวเองและหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม จึงเห็นว่า "การตัดงบฝึกอบรมเป็นอาชญากรรมทางธุรกิจ หัวหน้าที่ไม่ยอมส่งลูกน้องไปรับการอบรม ก็เป็นอาชญากรเช่นกัน ส่วนพนักงานผู้ใดที่หลังจากได้รับการอบรมแล้วไม่นำความรู้ทักษะที่ได้รับมาใช้ ก็เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายทางอาชีพการงาน เพราะเป็นการเสียเปล่าทั้งของหน่วยงานและตัวเอง" หน่วยงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงต้องให้ความสำคัญในการประเมินผลที่สามารถจับต้องได้ วัดเป็นปริมาณการผลิต ประสิทธิภาพ หรือผลกำไรได้ การรายงานเพียงว่าปีนี้จัดฝึกอบรมกี่หลักสูตร มีจำนวนผู้เข้าฝึกอบรมจำนวนกี่คน นับเป็นคนต่อชั่วโมงเท่าไรเป็นเรื่องล้าสมัยไม่เพียงพออีกต่อไป

ความแตกต่างระหว่าง "งานบริหารทรัพยากรมนุษย์" กับ "งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์" จะเห็นได้ชัดมากขึ้น แม้ว่าจำนวนคนในหน่วยงานทั้งสองรวมกันต่ออัตรากำลังพนักงานทั้งหมด จะมีแนวโน้มลดลงจากหนึ่งต่อร้อยในอดีต มาเป็น 0.75 ต่อร้อยในปัจจุบัน และลงไปถึง 0.5 ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ความสำคัญกลับจะมีมากขึ้น สถานประกอบการขนาด 500-1,000 คน อาจจะใช้เจ้าหน้าที่บริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รวมกันแล้วเพียง 3-5 คน งานที่เป็นงานเทคนิค งานประจำ จะถูกถ่ายเทไปยังผู้ชำนาญการภายนอก เจ้าหน้าที่ 3-5 คนจะทำหน้าที่หลักในการคิดเชิงกลยุทธ์ มองการณ์ไกลและประสานงานภายนอกเป็นหลัก ตำแหน่งงานหลาย ๆ ด้านอาจหายไปจากองค์การ โดยเฉพาะตำแหน่งงานระดับปฏิบัติการ เช่น เจ้าหน้าที่สรรหา เจ้าหน้าที่ค่าตอบแทน เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม แต่จะมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ทำหน้าที่สำคัญ ๆ แทรกขึ้นมาแทน เช่น เจ้าหน้าที่บริหารความรู้ในองค์การ ซึ่งทำหน้าที่ชี้นำและเสริมสร้างการนำความรู้ที่มีอยู่แล้วในพนักงานแต่ละคน ในแต่ละหน่วยงาน ในแต่ละท้องที่ มาใช้ร่วมกันผลักดันให้องค์การเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วที่สุด หรือตำแหน่งผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง เข้ามาดำเนินการให้องค์การสามารถปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่กำหนดไว้ตามกำหนดเวลาและตรงตามเป้าหมาย


ทำไมจึงต้องเรียนรู้
เวลาพูดถึงการเรียนรู้… การเรียนรู้ตลอดชีพ… สังคมแห่งการเรียนรู้… วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ คำที่แว๊บขึ้นมาในความคิดผม คือ คำว่า "ครึ่งชีวิต" นักเรียนวิทยาศาสตร์คุ้นเคยกับครึ่งชีวิต ในแง่ที่เป็นตัวเลขบ่งบอกอายุของสารกัมมันตภาพ หรือสารละลายที่ลดความเข้มข้นลงไปครึ่งหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในความคิดของผม ครึ่งชีวิตนำมาใช้กับเนื้อหาวิชาการและวิชาชีพที่เราใช้ทำมาหากินกันอยู่เป็นประจำวันได้อย่างเหมาะเจาะ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องของการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อสิบกว่าปีก่อน เราเรียนโลตัส เรียนเวิร์ดกัน กว่าจะจำคำสั่งต่าง ๆ ได้ก็ต้องเรียนรู้และฝึกกันเป็นเดือน ต่อมาวิทยาการก็พัฒนาขึ้น โปรแกรมที่ใช้งานประเภทเดียวกัน เวอร์ชั่นใหม่ ๆ ออกมา ถ้าใครไม่ตามเรียนให้ทัน นอกจากจะทำงานได้ช้ากว่าชาวบ้านแล้ว บางกรณียังแทบจะหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมเก่า ๆ ที่เคยเรียนรู้มาแล้วใช้แทบไม่ได้ วันนี้คุณลองไปถามหาเครื่องที่มีโลตัส 1-2-3 ดู

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สำนักงาน ครึ่งชีวิตของความรู้ในการใช้โปรแกรมอยู่ที่ประมาณ 18 เดือน พูดง่าย ๆ คือ ในทุก ๆ 18 เดือน ความรู้ที่คุณเคยมีอยู่ในการใช้งานจะหายไปครึ่งหนึ่ง เช่น เมื่อ 1 มกราคม 2548 คุณเคยรู้ 100 % พอปลายมิถุนายน 2549 ความรู้เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ของคุณจะหายไปครึ่งหนึ่ง คือ เหลือ 50 % และต่อมาถึงปลายธันวาคม 2551 ก็จะเหลือเพียง 25 % ของเมื่อต้นปี 2548 ตัวอย่างนี้ นำไปใช้กับทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นช่างสารพัดประเภท วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ จะต่างกันบ้างก็คือแต่ละวิชาอาจจะมีครึ่งชีวิตนานหน่อย คือ 4-5 ปี แต่บางวิชาอาจจะนับกันเป็นเดือน ถ้าคุณหยุดนิ่งไม่ศึกษา นอกจากความรู้เก่าจะถดถอยไปแล้ว ความรู้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วันก็จะทำให้คุณรู้น้อยเมื่อเทียบกับองค์ความรู้ทั้งหมดในสาขาวิชาชีพนั้น นี่คือสาเหตุหลักที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะเด็ก จะหนุ่มน้อย หรือสาวมากก็ตาม


สมองเด็ก-สมองผู้ใหญ่
ความรู้เรื่องสมองของคนเราเพิ่งจะเริ่มนับหนึ่งกันเมื่อ 500 ปีมานี้เอง เมื่อเทียบกับเรื่องอื่น ๆ แล้วจึงนับว่าล่ามาก ๆ อย่างเรื่องการทำงานและความถนัดของสมองสองซีก คุณโรเจอร์ สเปอร์รีย์ (Roger Sperry) เพิ่งค้นพบ และคว้ารางวัลโนเบลไปเมื่อประมาณ 30 ปีมานี่เอง มนุษย์เรากำลังเจาะหาเรื่องราวเกี่ยวกับสมองของเราอย่างขนานใหญ่ ทั้งในห้องทดลองและบนโต๊ะประชุม ความเชื่อหลายเรื่องกำลังสั่นคลอน อย่างเช่น เราเชื่อกันมานานแล้วว่า เซลสมองของผู้ใหญ่มีแต่ตายไปทุกวันไม่มีเกิดใหม่ แต่มีนักชีววิทยาสองคน คือ อลิซเบธ กูล์ด (Elizabeth Gould) และชารลส์ กรอสส์ (Charles G. Gross)ในมหาวิทยาลัยปรินซตัน สหรัฐอเมริกา พบว่าในลิงบางประเภทมีการสร้างเซลสมองใหม่วันละนับพันเซล ถ้าผลการศึกษาขยายต่อมาถึงมนุษย์ และพิสูจน์ได้ว่าเซลสมองคนก็มีเกิดใหม่เช่นกัน ก็คงจะเป็นโลกทัศน์ใหม่ ที่นำไปสู่การช่วยคนป่วยหลายประเภท และคงมีผลต่อการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ตามมาด้วย เราคงต้องติดตามกันต่อไป ความเชื่อเรื่องเราหยุดสร้างเซลสมองใหม่ เป็นที่มาของหนังสือ "รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว" ซึ่งเขียนโดย มาซารุ อิบุกะ ประธานกิตติมศักดิ์ผู้ก่อตั้งบริษัทโซนี และเป็นหนังสือที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรอ่าน แต่เมื่อลูกถึงวัยอนุบาลแล้วก็ไม่ควรท้อแท้ หรือหยุดความพยายามที่จะถักทอต่อเชื่อมเซลสมองที่มีอยู่ของลูกหลาน เพราะแม้จะมีอยู่เท่าเดิมไม่เพิ่มขึ้นตามความเชื่อปัจจุบันที่จุดประกาย โดย ปาสโก ราคิก (Pasko Rakic) จากมหาวิทยาลัยเยล ว่าจำนวนเซลสมองจะคงที่หรือลดลงเมื่อคนเราเจริญวัยมาถึงช่วงอายุหนึ่ง ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์และนักคิดหลายคนก็ยืนยันว่า เรามีเซลสมองอยู่มากเกินพอ เพียงแต่เราไม่ได้ใช้มันอย่างถูกวิธีเท่านั้นเอง เราจึงคิดเอาเองว่าเราทำไม่ได้ตั้งหลาย ๆ อย่างในชีวิต ความรู้เรื่องนี้ก็นำมาใช้ นำมาถ่ายทอดให้พนักงานรับรู้กันว่า พวกเขาแต่ละคนยังมีศักยภาพในการเรียนรู้ ที่ยังไม่ได้นำมาใช้อีกมาก

เด็กหัวใส
โทนี บูซาน ผู้ให้กำเนิด Mind Map หรือแผนที่ความคิด เห็นว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องสมองและพัฒนาการของสมองของลูก และในโลกนี้ก็ยังขาดนักเขียนที่นำความรู้และผลการค้นคว้าทดลองใหม่ ๆ เรื่องสมองมาถ่ายทอดให้กับผู้ที่สมควรจะรู้เรื่องนี้มากที่สุด โทนีจึงเขียนหนังสือแนะนำพ่อแม่ให้รู้จักกับสมองของลูกน้อย และเสนอกลเม็ดมากมายให้พ่อแม่นำความรู้เหล่านี้มาใช้ในการฟูมฟักลูกน้อย หนังสือ "เด็กหัวใส" เปิดหูเปิดตาให้พ่อแม่ได้รู้จักพื้นฐานของการทำงานของสมอง และนำความรู้เหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกอาหาร การเล่น เสื้อผ้าและการสัมผัส นอกจากนั้นยังเสนอความคิดที่ฟังดูแผลง ๆ เช่น "เด็กทุกคนชอบตัวเลข" และผู้ใหญ่ก็ชอบด้วย แม้หลายคนมักคิดว่าตัวเองไม่ชอบตัวเลขก็ตาม เพราะทุกคนก็อยากได้ยินว่า "คุณถูกรางวัลที่หนึ่ง" "คุณได้โบนัสสองเท่าของปีที่แล้ว" แต่สาเหตุที่ความรักกลายเป็นความเกลียดไปนั้นก็เพราะประสบการณ์ที่เลวร้ายเกี่ยวกับตัวเลขต่างหาก เช่น สมัยเด็ก ๆ ทำการบ้านผิดบางข้อ หรือตอบไม่ถูกแล้วด่วนสรุปว่า "หัวเราคงคิดเลขไม่ได้" เด็กบางคนเผชิญอุปสรรคครั้งแรกก็ท้อแท้ เช่น ถามว่า 1+1 ทำไมเท่ากับ 2 แล้วไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจ จึงคิดว่าตัวเองไม่สามารถเข้าใจได้ แล้วก็เลยเลิกชอบวิชาเลขคณิตไปเลย เด็กหลายคนอาจมีจินตนาการเกี่ยวกับตัวเลขที่ผู้ใหญ่และพ่อแม่ไม่เข้าใจ เช่น เด็กบางคนได้ยินตัวเลขคุยกัน เห็นรูปทรงเรขาคณิตหลากหลายสีปรากฏขึ้นในใจ หรือคิดว่าตัวเลขมาจากดวงจันทร์ ถ้าพ่อแม่ครูอาจารย์เข้าใจจินตนาการของเด็ก ๆ ก็จะรักษาความถนัดและความสามารถเชิงคณิตศาสตร์ไว้จนโตได้ แต่น่าเสียดายโอกาสที่เมื่อผ่านวัยเด็กไปแล้วเรียกกลับคืนมาได้ยาก

Brain Gym - บริหารสมอง
นักวิทยาศาสตร์อีกคนที่นำความรู้เรื่องสมองมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันคือ ดร. พอล เดนนิสัน ผู้ให้กำเนิดวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวเพื่อการศึกษา หรือ Edu-Kinesthetics และเป็นผู้คิดท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไปช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานประสานกันมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า Brain Gym

เมื่อราว 20 ปีก่อน ดร. พอล เดนนิสัน ศึกษาเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้ เช่น สะกดหนังสือไม่ถูก อ่านหนังสือไม่ออก พูดไม่ชัด โดยย้อนไปศึกษาประวัติการเจริญเติบโตของเด็กตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารก พบว่าเด็กที่มีปัญหาในวัยเรียนมักจะขาดประสบการณ์ในการเรียนรู้การเคลื่อนไหวบางขั้นตอน เช่น เด็กบางคนไม่ได้คลาน บางคนไม่ได้ตั้งไข่ เป็นต้น ซึ่งทำให้เส้นทางในการเรียนรู้ในสมองขาดช่วง ไม่สมบูรณ์เหมือนเด็กที่พัฒนาการการเคลื่อนไหวตามปกติ ดร. พอล เดนนิสันได้คิดหาวิธีช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ด้วยการคิดท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไปช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานประสานกันมากขึ้น และเด็กก็สามารถเรียนรู้ทันเพื่อนในวัยเดียวกันได้ จากประสบการณ์นี้ เขาจึงต่อยอดไปยังเด็กที่ไม่มีปัญหาและในที่สุดก็พัฒนามาใช้กับคนในวัยทำงาน
นอกจากนี้ ดร. พอล เดนนิสัน ยังประกาศทฤษฎีการทำงานของสมองใหม่ว่า มนุษย์เราทุกคนจะมีรูปแบบการทำงานของสมองอยู่สามประเภท ประเภทแรกคือ รูปแบบการทำงานตามกรรมพันธุ์ เป็นรูปแบบที่กำหนดมาจากพ่อแม่ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นมาแต่กำเนิด เป็นรูปแบบที่ทุกครั้งที่เราอยู่ในวิกฤต ภาวะคับขันเราจะกลับไปใช้รูปแบบนี้เสมอ ตัวอย่างคือ คนถนัดซ้าย มักจะมีพ่อหรือแม่ถนัดซ้าย การถนัดซ้ายจึงเป็นกรรมพันธุ์

รูปแบบที่สองเป็นรูปแบบทั่วไปที่เราพัฒนามาตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดา หรืออาจจะพัฒนามาตั้งแต่เราเริ่มเคลื่อนไหวในครรภ์มารดาด้วยซ้ำไป รูปแบบนี้จะกำหนดพฤติกรรมการใช้และประสานอวัยวะและสมองของเรา เพื่อความเข้าใจ เราแบ่งร่างกายออกเป็นซีกซ้ายและขวา เราแต่ละคนจะพัฒนาการใช้ ตา หู มือ แขน ขา กับการทำงานของสมองซีกซ้ายและขวา ทฤษฎีที่ยอมรับกันทั่วไประบุว่าสมองซีกซ้ายควบคุมร่างกายซีกขวาและสมองซีกขวาก็ควบคุมอวัยวะทางซีกซ้าย แต่ ดร. พอล เดนนิสันลงลึกลงไปอีกว่า ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์ทำจนกลายเป็นนิสัยหรือธรรมชาตินั้น ไม่เป็นไปตามทฤษฎีสมองสลับข้างควบคุมอวัยวะเสมอไป เช่น บางคนส่วนใหญ่ในชีวิตอาจจะใช้หูซ้ายฟัง เขียนหนังสือด้วยมือขวา และเตะฟุตบอลด้วยเท้าซ้าย ใช้สมองซีกซ้ายจัดการกับข้อมูลที่เข้ามาใหม่

ความขัดแย้งระหว่างรูปแบบทั้งสองนี้ทำให้มนุษย์เราไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น คนที่รูปแบบทางกรรมพันธุ์ถนัดใช้มือซ้าย แต่ถูกฝึกให้ใช้มือขวา ความขัดแย้งนี้ทำให้คนผู้นั้นมีปัญหาแฝงอยู่ในตัวตน เวลาเกิดวิกฤตเขาหรือเธอจะกลับไปใช้มือซ้ายเสมอ คือกลับไปหารูปแบบตามกรรมพันธุ์

ส่วนรูปแบบที่สามนั้นเป็นรูปแบบในอุดมคติที่จะทำให้มนุษย์แต่ละคนบรรลุศักยภาพสูงสุดของการทำกิจกรรมต่าง ๆ นั่นคือ ถ้ารูปแบบทางกรรมพันธุ์ของคุณเป็น ถนัดใช้มือซ้าย ขาขวา ในการทำกิจกรรม แต่ใช้หูซ้าย ตาซ้ายและสมองซีกซ้ายเป็นหลักในการรับข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ แต่กลับถูกฝึกหรือฝึกฝนตนเองให้ ใช้มือขวาและขาซ้ายทำกิจกรรม ก็จะทำให้เขาหรือเธอผู้นั้น จะมีปัญหาในการสื่อสาร มองเห็นและฟังเวลาเกิดวิกฤติในชีวิตหรือในงาน ดร. พอล เดนนิสันได้คิดเครื่องมือในการจัดรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Re-patterning ในการจัดรูปแบบให้แต่ละคนไปสู่ความเป็นอุดมคติ หรือบรรลุศักยภาพสูงสุดของแต่ละคน จากตัวอย่างงานเขียนใหม่ ๆ และทฤษฎีใหม่ จึงเห็นได้ว่าเราใช้พลังสมองของเราเพียงไม่ถึงร้อยละหนึ่งของศักยภาพของมัน แสดงว่าเรายังสามารถนำพลังแฝงมาใช้ได้อีกถึงร้อยละ 99 แต่ที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เรานำความรู้เรื่องสมองมาใช้ประโยชน์กันไม่ถึงร้อยละหนึ่งเช่นกัน
เห็นไหมครับขนาดมีปัญญาก็กลายเป็นปัญหาได้ หากขาดการเข้าใจและฝึกฝนที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น